วิธีเลือกซื้อซีพียู

พิจารณาจากแอพพลิเคชั่นที่ใช้
การจะเลือกว่าควรจะซื้อซีพียูรุ่นไหนยี่ห้อไหนความเร็วเท่าไหร่นั้น สิ่งแรกสุดที่ผู้ใช้ควรทราบก่อนก็คือรูปแบบการใช้งานของตัวเองว่าเป็นแบบใด โดยสามารถแบ่งได้คร่าว ๆ เป็นสามลักษณะ แบบแรกคือผู้ใช้ตามบ้าน ที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนังฟังเพลง และมีพิมพ์รายงานต่าง ๆ บ้างตามโอกาส แบบที่สองคือผู้ใช้ในสำนักงาน ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ใช้โปรแกรมในลักษณะของงานสำนักงาน เช่น Office 2000 และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ใช้งานที่เน้นด้านกราฟิก เช่น ใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ ใช้งานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ งานด้านการออกแบบ
จริง ๆ แล้วยังมีผู้ใช้อีกกลุ่มหนึ่งที่เน้นงานในลักษณะของการใช้งานในเครือข่าย ทำงานเป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืองานคำนวณขั้นสูง แต่กลุ่มนี้จะขอละไว้ไม่พูดถึงในส่วนของการเลือกซื้อซีพียูในบทความนี้ เพราะถือว่างานลักษณะดังกล่าวเป็นงานเฉพาะด้านที่ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มเฉพาะที่มีรูปแบบการเลือกซื้อในรายละเอียดต่างจากการแนะนำในบทความนี้ ที่จะเน้นไปที่ผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปที่ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่าใช้เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์
เมื่อได้ทราบแล้วว่าแต่ละคนนั้นจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานด้านใด เราก็จะเริ่มพิจารณาได้อย่างเหมาะสมว่าควรจะใช้ซีพียูในระดับความเร็วแค่ไหนจึงจะพอเพียงกับการใช้งานของตน
ทั้งนี้จากการแบ่งกลุ่มสามกลุ่มตามข้อมูลข้างต้นก็จะพบว่า กลุ่มผู้ใช้ที่ถือได้ว่าใช้งานคอมพิวเตอร์ในระดับที่พื้นฐานที่สุดและไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องความเร็วสูงก็ได้ ก็คือผู้ใช้กลุ่มสำนักงาน ที่ทำงานด้านการพิมพ์รายงานทั่วไป เพราะแอพพลิเคชันในชุด Office 2000 นั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบันสามารถทำงานกับแอพพลิเคชันลักษณะนี้ได้อย่างรวดเร็วสมบูรณ์ได้อย่างไม่มีปัญหา เรียกว่าผู้ใช้กลุ่มนี้สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ที่ช้าที่สุดมาใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำงานได้ช้า เพราะด้วยลักษณะงานที่ใช้เฉพาะการพิมพ์งานทั่วไป คอมพิวเตอร์ที่ช้าที่สุดในปัจจุบันนั้นก็เร็วเกินพอแล้ว จริง ๆ แล้วพูดได้ด้วยว่าผู้ใช้กลุ่มนี้ถ้าพิจารณาจากงานและหากต้องการจะดูแลให้การเลือกซื้อเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ก็ควรจะซื้อคอมพิวเตอร์ที่ช้าที่สุดก็พอ เพราะถึงจะซื้อซีพียูความเร็วสูงมาก็จะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะจะไม่ได้ช่วยให้การทำงานที่เน้นเรื่องการพิมพ์รายงานทั่วไปเสร็จได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด เพราะความล่าช้าในการทำงานนั้นจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการพิมพ์ดีดของผู้ใช้ ซึ่งถ้าพิมพ์ได้เร็วงานก็เสร็จเร็ว แต่ถ้าพิมพ์ได้ช้างานก็เสร็จช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วของซีพียูเลย
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้กลุ่มนี้ที่แม้จะใช้แอพพลิเคชันออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีบางส่วนที่อาจต้องใช้งานด้านกราฟิกสามมิติบ้าง เช่น การใช้ในลักษณะของการนำเสนองานในรูปแบบกราฟิกสามมิติ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับการนำเสนอ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ก็ควรพิจารณาด้านความเร็วในการคำนวณของซีพียูด้วยว่าควรจะอยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าระดับล่างสุด เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนข้อมูลที่ต้องมีคำนวณเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มต่อมากลุ่มผู้ใช้ตามบ้านนั้น จริง ๆ แล้วการใช้งานของผู้ใช้กลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ต้องการความเร็วในการคำนวณมากนักเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้สำนักงาน เพราะลักษณะการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตหรือพิมพ์รายงานทั่วไปนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยการคำนวณที่รวดเร็วมากมายอะไรเลย แต่ที่จัดให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้ใช้งานสำนักงานก็เพราะผู้ใช้กลุ่มนี้นิยมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม ดูหนังฟังเพลงบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งงานในลักษณะการเล่นเกม ดูหนังฟังเพลงนั้นจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการคำนวณของซีพียูมากกว่างานแบบสำนักงาน
จริง ๆ แล้วถ้าจะพูดกันไปนั้นการเล่นเกมนั้นก็ใช้ความสามารถของซีพียูไม่น้อยเหมือนกัน จนถึงขนาดที่พูดกันว่าจริง ๆ แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เหมาะที่สุดกับการเล่นเกมก็คือเครื่องที่เร็วที่สุดดีที่สุดเท่าที่จะหาได้นั่นเอง เพราะเกมนั้นถือว่าเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ต้องการความสามารถในการคำนวณของซีพียูมากที่สุดโปรแกรมหนึ่ง แถมยังต้องการความสามารถประกอบในส่วนอื่น ๆ ของคอมพิวเตอร์อย่างมากอีกด้วย เช่น การ์ดแสดงผลก็จะต้องมีความเร็วสูง ฮาร์ดดิสค์ต้องมีความจุสูง มีหน่วยความจำบนเครื่องมาก ๆ ฯลฯ
แต่ที่ยังจัดให้เครื่องในระดับผู้ใช้ตามบ้านนี้จัดอยู่ในกลุ่มระดับกลางก็เพราะผู้ใช้ตามบ้านนั้นส่วนใหญ่จะมีงบประมาณในการซื้อคอมพิวเตอร์ที่จำกัด จึงไม่เหมาะหากจะซื้อซีพียูความเร็วสูง เพราะจะมีราคาแพง แต่น่าจะซื้อซีพียูที่ประสิทธิภาพค่อนข้างดีแต่ราคาไม่แพงนักมากกว่า
สุดท้ายกลุ่มผู้ใช้งานด้านกราฟิก กลุ่มนี้ต้องการซีพียูที่เร็วมาก ๆ สามารถคำนวณงานกราฟิกขนาดใหญ่ให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว ที่จริงนั้นผู้ใช้กลุ่มนี้ก็จะสามารถเลือกซีพียูความเร็วต่ำ ๆ ก็ได้ เพราะใช้งานได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าซีพียูช้า ๆ จะใช้กับงานกราฟิกไม่ได้ แต่ที่ต้องเน้นให้ใช้ซีพียูความเร็วสูงก็เพราะจะคุ้มค่ากว่า เพราะงานด้านกราฟิกนั้นผู้ใช้ควรจะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น เพื่อที่จะทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างที่ใจนึก โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องความเร็วในการทำงานของเครื่องมากีดกั้น คิดดูนะครับว่าถ้าต้องให้ผู้ใช้กลุ่มนี้ออกแบบผลงานชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นเดียว แต่ต้องเสียเวลานานหลายชั่วโมงเพราะต้องรอให้คอมพิวเตอร์คำนวณให้เสร็จ ผู้ใช้ก็คงหงุดหงิดจนทำให้สมองตื้อตันคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ได้แน่ แต่ถ้าได้คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูง ก็จะช่วยให้งานที่ทำเสร็จลงในเวลารวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ความสามารถที่มีทำงานได้จำนวนมากในเวลารวดเร็วโดยสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่มากกว่า


ลักษณะการแบ่งกลุ่มซีพียู
เมื่อทราบกันแล้วว่าแต่ละคนจัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ลักษณะใด และควรเลือกซีพียูที่มีประสิทธิภาพในระดับใด เรามาลองดูกันหน่อยว่าซีพียูที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นมีการจัดกลุ่มกันอย่างไร สัมพันธุ์กับกลุ่มผู้ใช้อย่างไรบ้าง
ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์นั้นก็ทราบดีถึงลักษณะกลุ่มของผู้ใช้ว่าจะมีหลัก ๆ สามกลุ่มอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ทั้งนี้ผู้ผลิตซีพียูนั้นจะจัดกลุ่มของซีพียูของตนออกเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ สำหรับตลาดทั่วไปแทนที่จะจัดเป็นสามกลุ่ม เพราะมองว่ากลุ่มผู้ใช้งานสำนักงานและกลุ่มผู้ใช้ตามบ้านนั้นจะมีลักษณะการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก จึงถือเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มผู้ใช้เน้นราคาประหยัด หรือ Value ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นก็คือกลุ่มผู้ใช้เน้นประสิทธิภาพหรือผู้ใช้มืออาชีพ หรือ Performance/Professional
นอกเหนือจากกลุ่มสองกลุ่มนี้ จริง ๆ ก็ยังมีกลุ่มของเซิร์ฟเวอร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เวิร์กสเตชั่นด้วย แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าในบทความนี้จะเน้นไปที่การเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จึงจะขอเว้นไว้ไม่พูดถึงซีพียูในกลุ่มดังกล่าว

เมื่อทราบแล้วว่าผู้ผลิตซีพียูมีการแบ่งกลุ่มของซีพียูของตนออกเป็นสองกลุ่มหลัก คือ Value และ Performance/Professional เราก็มาลองดูกันต่อไปว่าแล้วในแต่ละกลุ่มนั้นมีซีพียูรุ่นใดกันบ้าง
อย่างที่หลายคนคงทราบแล้วว่าในปัจจุบันนั้นมีผู้ผลิตซีพียูรายใหญ่ที่ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดซีพียูอยู่เพียงสองบริษัทเท่านั้น คือบริษัท Intel และ AMD โดย Intel นั้นถือว่าเป็นผู้นำรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 80 % โดยมี AMD ตามหลังมาห่าง ๆ โดยปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดยังต่ำกว่า Intel อยู่มาก
ทั้ง Intel และ AMD นั้นต่างก็มีซีพียูในตลาดกลุ่ม Value และ Performance/Professional อยู่ทั้งสองบริษัท โดยสำหรับ Intel นั้นจะมีซีพียูในตระกูล Celeron เป็นซีพียูหลักในกลุ่ม Value และมีตระกูล Pentium III เป็นซีพียูหลักในกลุ่ม Performance/Professional ส่วน AMD นั้นจะมี Duron เป็นซีพียูหลักในกลุ่ม Value และมี Athlon เป็นซีพียูหลักในกลุ่ม Performance/Professional
ประสิทธิภาพและราคา
เมื่อได้ทราบกันแล้วว่าการเลือกซื้อซีพียูนั้นควรพิจารณาจากลักษณะของแอพพลิเคชันที่แต่ละคนใช้กันอยู่เป็นหลัก ต่อมาที่ต้องพิจารณาก็คือประสิทธิภาพของซีพียูแต่ละรุ่น โดยพิจารณาประกอบกับราคาว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่
ว่ากันที่ซีพียูในกลุ่มเน้นประสิทธิภาพ หรือ Performance/Professional กันก่อน
ในกลุ่มนี้จะมีซีพียูอยู่สองรุ่นคือ Pentium III และ Athlon เท่าที่ได้ทดสอบผ่านมานั้นพบว่า Pentium III จะมีความสามารถในด้านการคำนวณเป็นรอง Athlon อยู่พอสมควร โดยในแอพพลิเคชันที่ Athlon จะมีความโดดเด่นก็จะมีกลุ่มแอพพลิเคชันที่เน้นความสามารถในการคำนวณแบบ Floating Point มาก ๆ อย่างแอพพลิเคชันสามมิติ เช่น 3D Studio Max นอกจากนี้แอพพลิเคชันตัดต่อวิดีโอนั้น Athlon ก็ยังทำได้ดีกว่ามาก
ส่วนความสามารถในการเล่นเกมสามมิติต่าง ๆ นั้นเท่าที่ทดสอบพบว่าสามารถทำความเร็วได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาราคาแล้วก็จะพบว่า Athlon จะมีราคาถูกกว่า Pentium III ที่สัญญาณนาฬิกาเท่ากันอยู่หลายพันบาท (บางรุ่นต่างกันเป็นหมื่นบาทด้วยซ้ำ) Athlon จึงดูจะน่าสนใจกว่า Pentium III เพราะเด่นกว่าทั้งประสิทธิภาพและราคา
ในกลุ่มซีพียูราคาประหยัดคือ Duron และ Celeron นั้น เท่าที่ทดสอบนั้นผลปรากฏออกมาชัดเจนว่า Duron เหนือกว่าในทุกรูปแบบการทำงาน โดยความเร็วของ Duron นั้นพบว่าในบางแอพพลิเคชันทำได้ใกล้เคียงหรือดีกว่า Pentium III ด้วยซ้ำ เช่น แอพพลิเคขันสามมิติ การตัดต่อวิดีโอ
ด้านราคานั้น Duron ต่ำกว่า Celeron อยู่ค่อนข้างมากเหมือนกัน เช่น Duron 750 MHz ราคาอยู่ประมาณ 3,900 บาท ขณะที่ Celeron 733 MHz ราคาอยู่ที่ 6,400 บาท และ Celeron 766 MHz ราคาอยู่ที่ 9,200 บาท ต่างกันอยู่หลายพันบาท ทั้ง ๆ ที่ประสิทธิภาพต่ำกว่ามาก ทำให้ในตลาดกลุ่มผู้ใช้ที่เน้นคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดประสิทธิภาพดีควรเลือก Duron จะดีกว่า


ความเร็วของสัญญาณนาฬิกา
อีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้ถึงประสิทธิภาพของซีพียูได้ด้วยส่วนหนึ่งก็คือสัญญาณนาฬิกา โดยยิ่งสัญญาณนาฬิกามากก็ยิ่งแสดงถึงความเร็วในการคำนวณที่มาก อย่างไรก็ตามผู้ซื้อควรระมัดระวังด้วยว่าสัญญาณนาฬิกานั้นไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงเสมอไป เช่น ซีพียูความเร็ว 800 MHz ไม่ใช่จะเร็วกว่าซีพียูความเร็ว 750 MHz เสมอไป เพราะต้องพิจารณาถึงสถาปัตยกรรมของซีพียูรุ่นนั้น ๆ เปรียบเทียบกันด้วยว่ารุ่นไหนมีการออกแบบดีกว่ากัน
ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น ซีพียูราคาประหยัดอย่าง Duron นั้นแม้จะเลือกรุ่นที่สัญญาณนาฬิกาสูงกว่า เช่น 700 MHz แต่ก็จะไม่ได้เร็วกว่า Athlon 650 MHz เพราะมีคุณสมบัติภายในบางอย่างด้อยกว่า
ดังนั้นการเลือกซื้อซีพียูนอกจากจะพิจารณาเรื่องความเร็วสัญญาณนาฬิกาแล้ว ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพจริงที่ได้ในสัญญาณนาฬิกานั้น ๆ ด้วยว่าอยู่ในระดับใด โดยมีพื้นฐานง่าย ๆ ว่าซีพียูรุ่นประสิทธิภาพสูงหรือ Performan/Professional นั้นจะมีความเร็วในการคำนวณมากกว่าซีพียูราคาประหยัดหรือ Value ในรุ่นที่สัญญาณนาฬิกาเท่า ๆ กัน


อินเทอร์เฟส
อีกจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกซื้อซีพียูก็คือการพิจารณาถึงลักษณะการเชื่อมต่อระหว่างซีพียูกับเมนบอร์ด หรือที่เรียกกันว่าอินเทอร์เฟส
ซีพียูในปัจจุบันจะมีลักษณะการเชื่อมต่อเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือแบบ Slot ที่ตัวซีพียูจะมีลักษณะเป็นเหมือนการ์ด โดยบนเมนบอร์ดช่องต่อก็จะมีลักษณะเป็นสล็อตยาว ๆ คล้ายสล็อตสำหรับต่อการ์ด และแบบ Socket ที่ซีพียูจะเป็นชิปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีขาโลหะที่ด้านล่างหลายร้อยขา โดยช่องบนเมนบอร์ดจะมีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสีขาว มีรูอยู่หลายร้อยรู
ทั้งนี้ซีพียูในรูปแบบ Slot นั้นเป็นรูปแบบเก่าที่หมดยุคแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตซีพียูแบบนี้สูงกว่า ทำให้ถูกลดความสำคัญลงแล้วหันมาผลิตแบบ Socket แทน เพราะมีราคาในการผลิตซีพียูต่ำกว่า
ซีพียูแบบ Socket นั้นปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกันสองลักษณะ โดยสามารถแบ่งตามยี่ห้อได้เลย Intel นั้นจะใช้การเชื่อมต่อที่เรียกว่า Socket 370 โดยอินเทอร์เฟสแบบนี้จะใช้ได้กับซีพียูทั้ง Celeron และ Pentium III ส่วนของทาง AMD นั้นจะใช้อินเทอร์เฟสแบบ Socket A โดยจะใช้ได้กับทั้ง Duron และ Athlon เช่นกัน
ในการเลือกซื้อนั้นหากผู้ใช้เลือกแล้วว่าจะซื้อซีพียูจากค่าย Intel หรือ AMD ผู้ใช้ก็ต้องเลือกซื้อเมนบอร์ดที่ใช้อินเทอร์เฟสที่ถูกต้องตรงกับซีพียูที่เลือกด้วย เช่น หากตัดสินใจจะเลือก Pentium III ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่ใช้อินเทอร์เฟสแบบ Socket 370 และหากเลือก Athlon ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่ใช้อินเทอร์เฟสแบบ Socket A ไม่สามารถสลับกันได้ เพราะจะใช้ร่วมกันไม่ได้


ซีพียูยี่ห้ออื่นๆ
นอกเหนือจากซีพียูสี่ตระกูล ได้แก่ Celeron, Pentium III, Duron และ Athlon แล้ว ยังมีซีพียูตระกุลอื่นอีกทั้งจากผู้ผลิตที่กล่าวถึงแล้วอย่าง Intel และ AMD และจากผู้ผลิตรายย่อยอื่น ๆ ที่ตลาดอาจไม่ค่อยรู้จักมากนัก ซีพียูรุ่นอื่น ๆ ที่ว่าก็เช่น K6-2, K6-3 หรือ Cyrix เป็นต้น
ซีพียูตระกูลอื่น ๆ นอกเหนือจากสี่ตระกูลหลักที่กล่าวไปแล้วนั้นตลาดไม่ต้อนรับดีนักเพราะเหตุผลสำคัญคือเรื่องของประสิทธิภาพ ที่เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักสี่ตระกูลที่ว่านี้แล้วจะเป็นรองอยู่มาก อีกทั้งความแพร่หลายของตัวผลิตภัณฑ์ก็มีอยู่ต่ำ การสนับสนุนจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทั่วโลกก็มีน้อย ทำให้ไม่ได้รับความสนใจตอบรับจากผู้ใช้มากนัก จึงเสียเปรียบคู่แข่งสี่ตระกูลหลักในทุก ๆ ด้าน
ยิ่งหากใช้ไปแล้วเกิดข้อขัดข้องหรือมีปัญหาในทางเทคนิค ก็จะได้รับการสนับสนุนน้อยกว่า เช่น หากพบว่าไม่สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์บางอย่างได้ โอกาสที่จะได้รับการเหลียวแลจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่จะหันมาแก้ไขปัญหาให้นั้นก็จะมีน้อย เพราะในทางธุรกิจนั้นอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาที่จะต้องมาเสียไปกับการพัฒนาปรับแต่งซอฟต์แวร์เพื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแนะนำว่าหากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรจะหันไปเลือกซื้อซีพียูสี่ตระกูลหลักจากสองบริษัท คือ Intel และ AMD จะดีกว่า เพราะประสิทธิภาพและการสนับสนุนจากทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์เองและจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์มีมากกว่า


ความสามารถในการโอเวอร์คล็อก
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าตอนนี้เทคนิคการโอเวอร์คล็อกได้กลายเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเพิ่มความเร็วในการทำงานของซีพียูแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (หรือเสียเพิ่มเล็กน้อยเพื่อซื้ออุปกรณ์ช่วยระบายความร้อนที่ดีกว่าเดิม) ไปเสียแล้ว เพราะวิธีการโอเวอร์คล็อกนั้นมีการแนะนำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน จนทำให้ผู้ใช้ที่แม้เพิ่งจะหันมาทำความรู้จักกับคอมพิวเตอร์ได้ไม่นานนักก็สามารถเรียนรู้เทคนิคการโอเวอร์คล็อกได้ไม่ยาก
การโอเวอร์คล็อกซีพียูนั้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ให้มีความเร็วสูงขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ของตนได้อย่างคุ้มค่าเต็มความสามารถสมกับที่จ่ายเงินไปมากยิ่งขึ้น
ซีพียูหลักสี่ตระกูลคือ Celeron II, Pentium III, Duron และ Athlon นั้นต่างก็สามารถนำไปโอเวอร์คล็อกเพื่อเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกามากขึ้นอีกได้ทั้งสิ้น แต่จะมีความยืดหยุ่นในการโอเวอร์คล็อกของแต่ละตระกูลแตกต่างกันไป
Celeron II ของทางอินเทลนั้น จะสามารถโอเวอร์คล็อกได้ด้วยการปรับความเร็ว FSB ได้เพียงอย่างเดียว โดยจะไม่สามารถปรับตัวคูณสัญญาณได้ เพราะถูกล็อคเอาไว้อย่างถาวรแล้ว ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏมานั้นพบว่ามีความยืดหยุ่นได้ดีพอควร
ส่วน Pentium III นั้นก็ถูกล็อคตัวคูณสัญญาณด้วยเช่นกัน วิธีการโอเวอร์คล็อกจึงมีเพียงการเพิ่มความเร็วบัสเท่านั้น
Pentium III นั้นจะมีรุ่นความเร็วบัสอยู่สองแบบ คือแบบความเร็วบัส 100 MHz และแบบ 133 MHz
รุ่นที่เหมาะหากคิดจะโอเวอร์คล็อกก็คือรุ่นที่ใช้บัสแบบ 100 MHz เพราะการเพิ่มความเร็วบัสจาก 100 MHz ขึ้นไปเป็น 120 MHz หรือสูงถึง 133 MHz นั้น หน่วยความจำภายในเครื่องจะยังสามารถรองรับความเร็วระดับนี้ได้
แต่หากเลือกรุ่นที่ทำงานที่ 133 MHz แล้วโอเวอร์คล็อกเพิ่มเป็น 140 MHz หรือสูงกว่า โอกาสในการโอเวอร์คล็อกได้สำเร็จจะลดลงเพราะหน่วยความจำภายในเครื่องอาจรับการทำงานที่ความเร็วระดับนั้นไม่ไหว
ทั้งนี้ความยืดหยุ่นในการโอเวอร์คล็อกของ Pentium III นั้นนับว่าค่อนข้างดี โดยเท่าที่ผ่านมานั้นพบว่าซีพียูแต่ละรุ่นในตระกูล Pentium III นั้นจะเพิ่มความเร็วบัสได้อีกอย่างน้อย 1 หรือ 2 ขั้น ทำให้ได้ความเร็วเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 50-100 MHz ได้ และถ้าโชคดีบางรุ่นก็ทำได้ดีกว่านั้นขึ้นไปอีก
สำหรับ Duron และ Athlon นั้นจะเหมือนกัน คือเบื้องต้นจะปรับได้แต่เฉพาะความเร็วบัสเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากอาศัยเทคนิคเล็กน้อย ก็จะสามารถโอเวอร์คล็อกด้วยการเปลี่ยนตัวคูณสัญญาณได้ด้วย เพราะตัวซีพียูนั้นไม่ได้ถูกล็อคสัญญาณนาฬิกาเอาไว้แบบถาวร (วิธีการปลดล็อคติดตามได้จากวารสาร Computer User ฉบับก่อน ๆ)
Duron นั้นสามารถโอเวอร์คล็อกจากความเร็วต่ำ ๆ ระดับ 600-650 MHz ไปเป็นระดับ 800-900 MHz ได้แบบไม่ยากเย็นอะไร และบางตัวก็สามารถทำความเร็วในระดับ 1 GHz ได้ด้วยซ้ำ
ขณะที่ Athlon นั้นหากจะโอเวอร์คล็อก พบว่าจะทำความเร็วเพิ่มได้จนถึงระดับ 800 MHz หรือกว่านั้นได้ แต่ความร้อนจะมาก ต้องอาศัยการระบายความร้อนที่ดีจึงจะโอเวอร์คล็อกได้มากกว่านั้น
ดังนั้นหากจะพิจารณาเลือกซื้อโดยสนใจในประเด็นของการโอเวอร์คล็อกเป็นหลักแล้ว ซีพียูของ AMD ทั้ง Duron และ Athlon นั้นจะยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถโอเวอร์คล็อกด้วยการเปลี่ยนตัวคูณได้ (ต้องอาศัยเมนบอร์ดช่วยด้วย) ซึ่งถือว่าจะทำให้มีโอกาสในการโอเวอร์คล็อกมีความยืดหยุ่นกว่า ส่วนซีพียูของอินเทลนั้นจะมีความยืดหยุ่นในขั้นตอนการเลือกโอเวอร์คล็อกน้อยกว่า เพราะเปลี่ยนตัวคูณไม่ได้ แต่ก็เด่นตรงที่มีความยืดหยุ่นในการปรับความเร็วบัสมากกว่าทำให้ก็จะสามารถโอเวอร์คล็อกซีพียูขึ้นไปจากเดิมได้โดยไม่ยากเช่นกัน